|
Post by Beeying on Mar 13, 2023 10:06:03 GMT 7
ในกระทู้นี้จะนำเอาพระสูตรที่อาจารย์ได้กรุณานำมาสอน โดยจะมีกำกับวันที่และแปะลิ้ง youtube ที่เป็นไลฟ์ของวันนั้นด้วย
|
|
|
Post by Beeying on Mar 13, 2023 19:56:58 GMT 7
วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2566 วันนี้อาจารย์เน้นอธิบายหมวดกายและหมวดเวทนา Ref: EP.328
พุทธพจน์ และคำบรรยายอานาปานสติสูตร
"อานาปานสติ เป็นกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าแจกแจงละเอียดที่สุด ในกรรมฐานทั้งปวง กรรมฐานอื่นๆ คล้ายๆกับเป็นบริวารตามมา พระองค์ตรัสถึงกรรมฐานอื่นๆโดยสังเขป แต่ว่าอานาปานสติเป็นเรื่องเดียวที่พระองค์ตรัสไว้อย่างละเอียด"
"จริงๆแล้วก็อาจจะเน้นเรื่องนั่ง แต่จริงๆจะอยู่ในอิริยาบทไหนก็ได้ พอเราฝึกจนกระทั่งเกิดความคุ้นเกิดความชำนาญ และเข้าใจจริงๆว่าแก่นของอานาปานสติอยู่ตรงไหน อานาปานสติเป็นบาทฐานของการฝึกสติปัฐฐานสติ 4 และอันนี้แหละที่เราจะมาทำความเข้าใจตรงนี้ว่า พระพุทธเจ้าให้ฝึกอานาปานสติในอิริยาบททุกสถาน เนื่องจากท่านให้ฝึกในฐานของกาย เวทนา จิต และธรรม อานาปานสติสามารถนำไปใช้ในจุดที่บรรลุธรรมได้เลย เพราะฉะนั้นอานาปานสติ อย่าให้ใครบอกเด็กขาดว่าเป็นแค่สมถะ เพราะท่านให้ใช้ไปถึงในขั้นที่บรรลุธรรมได้เลย"
เข้าที่วิเวก ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า
**หมวดกาย** หายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
"เริ่มต้นจากการมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า พูดง่ายๆว่ามีสติธรรมดาๆ รู้ว่ากำลังหายใจออกหรือว่าหายใจเข้า หายใจออกยาว หายใจเข้ายาว หรือหายใจออกสั้น หายใจเข้าสั้น เรารู้ และสำหรับที่จะให้มาฝึกแบบหลายๆคนพร้อมๆกัน ก็อาศัยอุบายนิดนึง ให้หายใจยาว เนื่องจากว่าคนส่วนใหญ่จะหายใจกันไม่ถูก และจะหายใจสั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ไม่ค่อยจะมีสติรู้ลมหายใจซักเท่าไหร่ ไอที่เรากำลังฝึกเป็นเรื่องของการฝึก เพราะอานาปานสติของจริงจะต้องเป็นสติในแบบที่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ และควรจะรู้ครอบคลุมทั้งลมยาวลมสั้น แต่วันนี้เราจะมาฝึกรู้ลมยาว เพื่อที่จะให้เกิดสมาธิได้ง่ายขึ้น เกิดสติได้ชัดขึ้น"
**รู้ที่จิต แยกจิตแยกกาย** สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า
"ทีนี้พอเรารู้ลมยาวไปเรื่อยๆ มันจะไปถึงจุดหนึ่ง ที่สามารถรู้เข้ามาว่าจิตเป็นผู้ดู เป็นผู้รู้ แยกจิตแยกกายได้ กล่าวคือ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในขั้นนี้ อันนี้ก็คือฝั่งนึงที่เป้นผู้มีสติเห็นว่า ลมหายใจทั้งปวงแยกเป็นต่างหากจากจิต อันนี้ก็คือขั้นที่เราแยกจิตแยกกาย"
**กายสงบระงับ** สำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
"แล้วพอเราแยกจิตแยกกายได้ ธรรมชาติก็จะเกิดความสงบระงับทางกาย นั่นคือ มีความรู้สึกไม่กระสับกระส่าย คำว่ากายสังขารตรงนี้นะ เผื่อไว้นะ บางที่บางแห่งเค้าจะบอกว่า แปลว่าลมหายใจกายสังขาร แต่กายสังขารเนี่ย จริงๆแปลได้สองอย่าง คือลมหายใจ และความปรุงแต่งทางกาย ในที่นี้ถ้าหากเราพิจารณาแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่จะระงับลมหายใจตั้งแต่เริ่มฝึก เพราะมันยังมีขั้นอื่นๆ ที่แสดงถึงการมีลมหายใจอยู่ เพราะฉะนั้นตรงนี้ ถ้าเป็นไปตามธรรมชาติ อย่างที่เราเห็นที่เกิดประสบการณ์แล้วว่า เมื่อสามารถแยกจิตแยกกายได้ กายจะมีความสงบระงับ ไม่กระสับกระส่าย อันนี้คือขั้นตอนที่มาตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นต้นๆ"
เมื่อใดทำได้อย่างนี้เธอได้ชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เรากล่าวลมหายใจออก ลมหายใจเข้านี้ ว่าเป็นกายชนิดหนึ่งในพวกกาย เพราะฉะนั้นแล ในบัดนี้ เธอจึงได้ชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
(หมวดเวทนา) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก เราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า
"ถ้าหากว่ารู้กายได้ ก็จะสามารถที่จะรู้ถึงเวทนา กล่าวคือ พอกายสงบระงับแล้ว เราจะรู้สึกว่ามีความสุขแบบหนึ่ง มีความว่างแบบหนึ่ง รู้สึกถึงปิติ ไอขั้นนี้แหละที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ แต่ถ้าหากว่าเราทำมาถึงขั้นนี้ได้ แล้วมาอ่านตรงนี้ ก็จะเกิดความรู้สึกว่าจูนตรงกัน กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ กล่าวคือ มีความสุขเป็นตัวตั้ง สุขในระดับที่มันมีความวิเวก สุขในระดับที่รู้สึกว่าอย่างนี้มีความเย็นซ่าน มีความสบาย มีความผ่อนคลาย มีความรู้สึกว่าเกิดปิติอันเกิดแต่วิเวก พอมีปิติอันเกิดแต่วิเวกได้ แล้วเราจับจุดตัวนั้นเป็นตัวตั้งแล้วมารู้ลมหายใจเป็นแบล็คกราวน์ อันนี้แหละที่จะเข้าสู่ว่าเรากำลังอยู่ในหมวดเวทนา มีปิติหายใจออก มีปิติหายใจเข้า หรือใครจะเอาความรู้สึกประมาณว่า มีความว่างเบาหายใจออก มีความว่างเบาหายใจเข้า นั่นก็เข้าข่าย เพราะว่าปิติแต่ละคน จะรับรู้ไม่เท่ากัน แล้วก็บางทีนิยามของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ทีนี้เอาเป็นว่า เพื่อให้ชัดเพื่อให้ง่ายและเป็นไปด้วยกัน ถ้าหากมีความว่างมีความเบา มีความวิเวก อันนั้นขอให้จัดเป็นปิติ แต่ถ้าใครรู้สึกมีปิติชัด อันนั้นยิ่งดี ปิติในที่นี้ไม่ใช่ปิติแบบขนลุกขนพอง แต่เป็นปิติที่มีความเยือกเย็นและพร้อมจะเป็นสุข"
**ระงับความฟุ้งซ่านด้วยปิติ** สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจออก เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่า เราจะระงับจิตตสังขาร หายใจออก เราจักระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า
"จากนั้นเราก็จะเห็นว่า ความมีปิตินั้นสามารถระงับความฟุ้งซ่านได้ เราจะรู้จิตสังขารหายใจออก รู้จิตสังขารหายใจเข้า พูดง่ายๆว่า ถ้าสามารถรู้สึกถึงความฟุ้งซ่านได้ รู้สึกถึงอาการปรุงแต่งทางคิดนึกได้ เราก็สามารถระงับได้เช่นกันจากการมีปิติ เนี่ยมาเป็นขั้นๆ แบบที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เลย ลองสังเกตดูถ้าหากว่า เราเกิดความรู้สึกว่ามีความว่างมีความเบา มีจิตที่วิเวกได้ เวลาความคิดความฟุ้งซ่านมันโผล่ขึ้นมาในหัว เรารู้นิดเดียว มันจะเห็นเลยว่าแยกเป็นต่างหากจากจิต เป็นคนละชั้นเป็นคนละเลเยอร์กับจิต หรือไม่เราก็ไม่สนใจ หรืออีกทีนึงมันโผล่ขึ้นมา เราคล้ายๆว่าปัดเป่าไปด้วยความมีปิตินั้น ด้วยใจที่ว่างนั้น ก็จะรู้สึกว่าความคิดฟุ้งซ่านมารบกวนจิตใจเราไม่ได้ อันนี้ในขั้นที่เรารู้เวทนา"
เมื่อใดที่เห็นได้อย่างนี้ เธอได้ชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเป็นอย่างดีนี้ว่า เป็นเวทนาชนิดหนึ่งในพวกเวทนา เพราะฉะนั้น เธอจึงได้ชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
"แล้วเสร็จแล้วเราก็จะสามารถรู้จิต สามารถรู้ธรรม พูดง่ายๆว่า กาย เวทนา จิต และธรรม จะถูกรู้ได้ภายในกรรมฐานเดียว คืออานาปานสติ"
(หมวดจิต) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า
เราจักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก เราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า
เราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก เราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า
เราจักเปลื้องจิต หายใจออก เราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า
เมื่อใดที่เห็นได้อย่างนี้ เธอได้ชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เราไม่กล่าวอานาปานสติ แก่ภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่ เพราะฉะนั้นเธอจึงได้ชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
(หมวดธรรม) สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า
สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนด หายใจออก เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า
เมื่อใดที่เห็นได้อย่างนี้ เธอได้ชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี
คัดลอกบางส่วนมาจาก รายการปฏิบัติธรรม
|
|
|
Post by Beeying on Mar 14, 2023 16:12:20 GMT 7
วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 Ref: EP.315
พุทธพจน์ และคำบรรยายประกอบเมตตาสูตรที่ 2
"เมื่อมีกำลังทางจิต กำลังบุญพอถึงจุดหนึ่ง มันอยากช่วย นึกอยากช่วย ตัวนั้นแหละคือจุดตั้งต้นของกรุณา ซึ่งมันยกระดับมาจากแค่แผ่เมตตาเฉยๆ เมตตาเนี่ย เราไม่อยากเบียดเบียน อยากมีความสุขไปด้วยกัน แต่กรุณา รู้สึกว่าเรามีกำลัง เราอยากช่วย ตอนที่มีกำลังแล้วอยากช่วย มักจะออกแนวที่ว่าเรามีกำลังสมาธิ เรามีกำลังจิต ในแบบที่รู้ตัวเองอยู่ที่กำลังหลักของขันธ์ห้านี้ว่า ตอนนี้มีบุญ คำว่ามีบุญ ไม่ใช่สักแต่คิดด้วยจิตดิบๆด้านๆว่า เห้ย กูมีบุญเว้ย อะไรแบบนี้ แต่รู้สึกออกมาจากข้างในว่า จิตนี้มีกำลัง แล้วยังสามารถที่จะไปสัมผัสจิตอื่น หรือว่าผู้อื่น ที่เค้ายังอ่อนแอกว่าตัวเอง แล้วอยากช่วย อยากจะเอากำลังของตัวเองไปเกื้อหนุนค้ำจุน หรือช่วยให้เค้ามีพลังจิตพลังใจดีขึ้น"
"เคยมั้ยมีประสบการณ์ที่ว่า เห็นคนอ่อนแอ แล้วรู้สึกว่าตัวเองเข้มแข็งกว่าเขา นึกอยากปลอบ นึกอยากช่วยให้เขาพ้นจากความอ่อนแอ คือเอาความรู้สึกจากที่มันสามารถสัมผัสได้ พอไปอยู่ใกล้เขารู้สึกถึงความอ่อนแอนั้น รู้สึกถึงความกลัว รู้สึกถึงความตระหนกตกตื่น ในขณะที่คุณรู้สึกว่าตัวเองมีจิตใจเข้มแข็ง มีกำลังวังชา มีความหนักแน่น แล้วอยากเอาความหนักแน่นแบบนี้ เอาความเข้มแข็งแบบนี้ไปเผื่อแผ่ ทำให้เค้าช่วยให้เค้ามีกำลังวังชาเท่า จะด้วยวิธีการพูดปลอบ หรือด้วยวิธีการให้กำลังใจ จนกระทั่งคุณรู้สึกว่า เหมือนเห็นยางที่มันแบน แล้วคุณเอาปั๊มลมไปเติมจนกระทั่งยางมันเต็มขึ้นมา อะไรแบบนี้ เป็นประสบการณ์ของคนทั่วไป"
"ทีนี้ในการภาวนา มันเป็นอะไรที่เราพูดง่ายๆว่า มันเริ่มมีสมาธิมากพอ ที่จะแยกแยะออกว่าจิตของเรามีกำลัง แต่เป็นมีกำลังแบบไม่ได้หลงตัว มีกำลังในแบบที่มีใจนึกอยากช่วยคนอื่น ตรงนี้แหละคือกรุณา"
"จะอัญเชิญพระพุทธพจน์มา ซึ่งตรงนี้มีส่วนสำคัญมากๆ ถ้าหากว่าใครเข้าใจแล้ว จะได้เลิกกลัว เพราะยุคเราตอนนี้มีแพร่หลายที่บอกว่า กลัวว่าแผ่เมตตาแล้วเดี๋ยวจะเกิดราคะ แผ่เมตตาแล้วจะไปหลงพิศวาสใครต่อใครเข้า มาทำความเข้าใจใหม่หมดเลยว่า การแผ่เมตตานี้นำมาจากเมตตาสูตรที่ 2 ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ ถ้าใครยังไม่เข้าใจการแผ่เมตตา ว่ามาเชื่อมโยงกับการเจริญสติอย่างไร ดูสูตรนี้แล้วมาเข้าใจไปพร้อมๆกันจากประสบการณ์ตรงของพวกเราที่ได้ทำกันมาแล้ว"
[๑๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบ ด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุก สถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใด มีอยู่ในเมตตาฌานนั้น บุคคลนั้นพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของทนได้ยาก เป็นของเบียดเบียน เป็นของไม่เชื่อฟัง เป็นของต้องทำลายไป เป็นของว่างเปล่า เป็นของไม่ใช่ตน
"นี่อย่างนี้นะ ที่ได้ยินมาแต่ละคำคุ้นๆใช่ไหม นี่นะที่เรามาเจริญสติร่วมกันในห้องวิปัสสนานุบาลนี้ โดยหลักแล้วก็อัญเชิญพระพุทธพจน์มา ได้ประดิษฐานไว้ในใจพวกเรากันมาร่วมปี ทีนี้พระองค์ตรัสว่า..."
บุคคลนั้น เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา เหล่าสุทธาวาส ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความอุบัตินี้แลไม่ทั่วไปด้วยปุถุชน ฯ
"หมายความว่าเมื่อตายไปจะไปเป็นพระอนาคามี ท่านตรัสอย่างรวบรัดว่า ถ้าใครเจริญเมตตา มีจิตที่มีความเมตตา มีความกรุณาแผ่ไป จิตมีความเป็นใหญ่ได้ สามารถที่จะพิจารณาความเป็นขันธ์ห้า ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีความสุขล้นหลาม เราก็รู้ว่านี่เป็นเวทนาหนึ่ง เป็นเวทนาขันธ์ เป็นความสุขหลอกๆชั่วคราว ไม่ใช่ของจริง เกิดจากเหตุปัจจัย เป้นของไหล เหตุเปลี่ยนผลก็เปลี่ยน เนี่ยอย่างนี้เรียกว่าเห็นเวทนาที่ประกอบอยู่ในเมตตาฌาน หรือถ้าหากว่ามีจิตพุ่งเป้าไปในทางไม่เบียดเบียน อยากให้ใครต่อใครทั้งโลกเป็นสุขเหมือนกับเรา อย่างนี้เรียกว่าเห็นสังขารขันธ์ที่ประกอบอยู่ในเมตตาฌานนั้น หรือถ้าหากว่าเรารู้ เรารู้สึกถึงกำลังจิตที่มีความใหญ่ อยากจะให้ใครต่อใคร เหล่าสหธรรมิกที่เดินอยู่ด้วยกัน หรือว่าเพื่อนร่วมโลก หรือว่าเทวดาฟ้าดินที่ท่านไม่มีโอกาสใช้อัตภาพมาเจริญสติ หรือว่ามาเจริญแผ่กรุณาจนเป็นฌานได้เหมือนกับเรา เราอยากให้พวกท่านได้มีกำลังเหมือนกับเรา ได้มีบุญอันเกิดจากได้ภาวนา บำเพ็ญเพียรเหมือนๆกับเรา นี่อย่างนี้เรียกว่าเป็นการแผ่กรุณาไป หากว่าเห็นว่าอันนี้คือสังขารขันธ์ คือเจตนาอันเป็นบุญชนิดหนึ่ง ก็รู้ว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อตัวตน แต่เป็นไปเพื่อแจกจ่าย เป็นไปเพื่อที่จะสละออก เป็นไปเพื่อที่จะทำให้ตัวตนเบาบางลงจากขันธ์ห้านี้ นี่เรียกว่าเป็นการพิจารณาขันธ์ห้าที่อยู่ในสมาธิแบบที่เป็นการแผ่เมตตาและการแผ่กรุณา"
"นี่นะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อย่างนี้ ทิศทางที่เราทำๆกันอยู่เอาง่ายๆนะ ทำไปเรื่อยๆไปจนตาย ไม่ใช่แค่ได้โสดานะ คือข้ามขั้นไปเลย ไปพิจารณาเลย ถ้าหากว่าจิตมีความเป็นใหญ่ในขณะตายได้จริง ทรงฌานอยู่ไม่เสื่อม สิทธิและโอกาสของพวกท่าน ไม่ใช่ในระดับโสดา แต่ได้ในระดับอนาคามีทีเดียว พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ เพราะว่าไปเป็นสหายเทวดาชั้นสุทธาวาส ซึ่งเป็นชั้นของอนาคามีพรหม ไม่ใช่เป็นของสาธารณะแก่ปุถุชนทั้งหลาย ไปเที่ยวเดียวแล้วไม่มีการกลับ ชั้นสุทธาวาส"
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... ฯ อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... ฯ อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไป ตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้อง ล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจ ประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใด มีอยู่ ในอุเบกขาฌานนั้น บุคคลนั้นพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่ เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของทนได้ยาก เป็นของเบียดเบียน เป็นของไม่เชื่อฟัง เป็นของต้องทำลายไป เป็นของว่างเปล่า เป็นของไม่ใช่ตน บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา เหล่าสุทธาวาส ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความอุบัตินี้แลไม่ทั่วไปด้วยปุถุชน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
"นี่นะ ในสูตรนี้พระองค์ก็ตรัสโดยนัยยะเดียวกับ บุคคลบางคนในโลนี้ประกอบด้วย กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เนื้อความเหมือนๆกัน หมายความว่าไม่ว่าจะมีความสุขขนาดไหนก็ตาม ท่านให้พิจารณาเห็นความสุขนั้นเป็นของไม่เที่ยง เเป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของทนได้ยาก เป็นของเบียดเบียน เป็นของไม่เชื่อฟัง เป็นของต้องทำลายไป แม้กระทั่งความสุขที่ประกอบอยู่ในเมตตาและกรุณาที่ยิ่งใหญ่ ท่านก็ให้พิจารณา หมายความว่าถ้าหากว่าเราแผ่เมตตาเป็น เราสามารถที่จะมีความกรุณาอยากช่วยเหลือคนอื่นได้ จนกระทั่งสมาธิมีความทรงตัวตั้งมั่น จนกระทั่งจิตรวมดวงใหญ่มากพอ จะสามารถเห็นกาย ใจ อันเป็นที่ตั้งของเมตตาและกรุณานั้นได้ง่าย เห็นโดยความเป็นขันธ์ห้า เป็นของหลอก เป็นของไม่น่าเอา เป็นของน่าทิ้งได้ไม่ยาก นี่คือสาระที่เราได้อัญเชิญพระพุทธพจน์ ที่อยู่ในเมตตาสูตรที่ 2 สูตรอื่นๆเอาไว้ทีหลัง เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องมาทำความเข้าใจกัน"
|
|
|
Post by Beeying on Mar 14, 2023 21:00:46 GMT 7
วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2566 Ref: EP.323
พุทธพจน์ และคำบรรยายประกอบเมตตสูตร
"เราฝึกกันมาจะแน่ใจได้อย่างไร ว่าพวกเราไม่ได้คิดเองเออเอง ก็คือว่าจะต้องอาศับบรรทัดฐาน ที่พรระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ อย่างเราฝึกที่จะแผ่เมตตา แผ่กรุณา แล้วผลลัพธ์ที่มาแผ่เมตตา แผ่กรุณาที่มันมาเชื่อมโยงกับการเจริญสติเห็นกายใจเป็นรูปนามเนี่ย เราจะเอาจุดไหนเป็นเครื่องวัดว่า เรากำลังทำตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อยู่ ก็มาดูกัน
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า..."
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมตตาเจโตวิมุติ
"หรือพูดง่ายๆว่า ความหลุดพ้นด้วยการแผ่เมตตา คือ พ้นจากพยาท พ้นจากความหลงผิดทั้งหลาย"
อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไร เป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด
"พูดง่ายๆว่า ทำแล้วได้ผลอะไรบ้าง มีผลอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า"
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม วินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยเมตตา ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยเมตตา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
"นี่นะ สำคัญนะ ถ้าใครทำแล้วรู้สึกว่าไม่เข้าใจศัพท์คำไหน หรือว่าเหมือนกับฟังแล้วรู้สึกมึนๆงงๆ ไม่เป็นไรนะ ขอแค่ว่าเดี๋ยวจะค่อยๆพูดเป็นคำง่ายๆ ขอแค่ว่าเราได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่เรากำลังทำๆกันอยู่เนี่ย มันอยู่ไหนขั้นตอน มันอยู่ในกระบวนการที่จะเข้าถึงมรรคถึงผลอย่างไร เพราะว่าสติสัมโพชฌงค์ที่ผมพยายามแปลเป็นไทยแบบง่ายๆนะ นี่เป็นเฉพาะกลุ่ม คนทั่วไปหรือนักวิชาการ หรือครูบาอาจารย์ท่านอาจจะไม่ได้แปลอย่างน้ี สติสัมโพชฌงค์เอาง่ายๆก็คือเกิดสติเป็นอัตโนมัติ และเป็นอัตโนมัติในแบบที่เราจะเป็นหายใจเป็นรูปนาม ไม่ใช่ว่าจะออกนอกทาง ไม่ใช่ว่าไปมีสติเป็นอัตโนมัติ แล้วไม่เกิดการพิจารณาธรรม ไม่เกิดการเข้าใจธรรมใดๆ
พอมีเมตตา จะเจริญสติสัมโพชฌงค์ มีสติเป็นอัตโนมัติประกอบด้วย คำว่า 'สหรคต' คือแปลว่าประกอบด้วย ประกอบด้วยเมตตา เกิดขึ้นพร้อมกับเมตตา พูดง่ายๆถ้าตีความจากประสบการณ์ตรง ตอนที่จิตเราแผ่ออก รู้สึกว่ามีเมตตาไม่อยากเบียดเบียน ไม่มีการเอาเข้าตัว แล้วเกิดสติเป็นอัตโนมัติในแบบที่จะสละออก เนี่ยตัวนี้คำสำคัญ 'น้อมไปในการสละ' ก็คือว่าใจไม่คิดเอา ซึ่งเรามีประสบการณ์กันในตอนที่เราแผ่เมตตา แผ่กรุณา แล้วรู้สึกว่าไม่แบ่งเขาแบ่งเรา มีกำลังใจแม้กระทั่งว่าต่อให้เพิ่งเป็นหน้าใหม่เข้ามา เราพร้อมยกให้เขามีจิตขึ้นมาเสมอระดับกับเรา เนี่ยอันนี้น้อมไปในทางสละ ถ้ามีสติเป็นอัตโนมัติ มีเมตตาไม่แบ่งเขาแบ่งเรา"
(จิตมีกำลังอยู่เหนืออำนาจการปรุงแต่งทางตา จะน้อมนึกให้เกิดความสำคัญว่าน่ารักหรือน่าเกลียดก็ได้)
"ผลลัพธ์ที่มันอยู่ใกล้ ก็คือว่า จิตมีกำลังอยู่เหนืออำนาจการปรุงแต่งทางตาได้ ลองสังเกตุตัวเองดูนะ เวลาที่จิตมีความรู้สึกถึงเมตตา มีความรู้สึกว่ามีกำลัง สามารถแผ่ออกได้ สามารถที่จะยกบุญกุศุลให้ใครต่อใครเขาได้ เวลาเราลืมตาขึ้นมา ภาพทางตามันจะไม่มีอำนาจปรุงแต่งให้จิตเป๋ไปจากความรู้สึกที่แผ่ออก ที่มีความสว่าง ที่มีกำลังอะไรต่างๆ มันจะไม่ทำให้จิตเป๋ นี่ตรงนี้มันจะมีความสามารถทางจิตขึ้นมาอย่างนึง คือไม่ใช่ว่าไปดัดเหล็กให้งอ หรือว่าไปเคลื่อนวัตถุจากจุดนึงไปอีกจุดนึง แต่สามารถที่จะเอาชนะความสำคัญมั่นหมายที่เกิดขึ้นว่า สิ่งนั้นน่ารัก สิ่งนี้น่าเกลียด อันนี้ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะ บอกว่า..."
ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่า ปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ (ตาเห็นรูปน่ารัก แต่รู้สึกว่าน่าเกลียด เป็นอสุภะ)
"ถ้าเรามีความคาดหมายว่า จะสำคัญในสิ่งที่ไม่เป็นปฏิกูลดูน่าเกลียด ยกตัวอย่างเช่น เห็นผู้หญิงน่ารัก หรือว่าผู้ชายหล่อๆ แต่ก็รู้สึกว่าน่าเกลียดได้ คือมองด้วยสายตาที่ออกมาจากความสำคัญว่า สิ่งนั้นยกร่างขึ้นด้วยโครงกระดูก ผูกด้วยเส้นเอ็น แล้วก็อาจจะเห็นตับไตไส้พุง รู้ว่ามันเป็นของน่าเกลียด มันเป็นสิ่งโสโครก หรือไม่สำคัญมั่นหมายรูปทางตาที่อรชรอ้อนแอ้น หรือว่าดูมีความหล่อเหลาคมสันว่าเป็นของน่าเอา พูดง่ายๆอย่างนี้นะ อันนี้เรียกว่า มีอสุภะสัญญานั่นเอง"
ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่า ไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ (ตาเห็นศพน่าเกลียด แต่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เฉยๆหรือน้อมนึกให้น่ารัก)
"หรือสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ตาเห็นศพน่าเกลียด แต่ทำเป้นไม่รู้ไม่ชี้ ทำเป็นรู้สึกเฉยๆหรือน้อมนึกให้น่ารักน่าพิศวาสก็ยังได้ นี่คืออำนาจของจิตที่มีกำลังที่มีเมตตา ที่มีความสามารถจะแผ่ความสว่างออกไปครอบงำรูปที่เห็นทางตาทั้งปวง แม้แต่ศพที่น่าเกลียด เรากำหนดให้ดูน่ารักน่าพิศวาสก็ยังได้"
ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่ (ทั้งรูปที่น่ารักและศพที่น่าเกลียด ต่างก็เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ)
"หรือแม้กระทั่งตั้งความหวังว่า ไอสิ่งที่มันไม่ปฏิกูลและสิ่งที่ปฏิกูล คือพูดง่ายๆว่าทั้งศพที่น่าเกลียดและทั้งหนุ่มสาวหล่อๆสวยๆต่างก็เป็นสิ่งน่ารังเกียจ อันนี้เอาแบบย่นย่อนะ"
ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่ (ทั้งรูปที่น่ารักและศพที่น่าเกลียด ต่างก็ไม่น่ารังเกียจ)
"แล้วก็สำคัญว่า ไม่ปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่งที่ปฏิกูลอยู่ พูดง่ายๆ ทั้งรูปที่น่ารักและศพที่น่าเกลียดต่างก็ไม่น่ารังเกียจ"
ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงแยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว วางเฉยมีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็ย่อมวางเฉย มีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่
"หรือว่ามีจิตที่แยกเป็นต่างหากออกมาจากสัญญาทั้งหลาย แล้วก็มีสติสัมปชัญญะวางเฉยอยู่ได้ คือพูดง่ายๆว่าแยกจิตแยกสัญญา เหมือนกับที่เราเคยแยกจิตแยกคิดได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราสามารถจะใช้กำลังของเมตตาเจโตวิมุต ทำให้ไอความรู้สึกว่า โลกนี้มีสิ่งน่ารักน่าพิศวาสหรือน่ารังเกียจอยู่ ให้หายไปจากใจ คือพูดง่ายๆว่า ถ้าหากมีกำลังมากพอเราจะไม่รู้สึกว่าสิ่งใดน่าเกลียด สิ่งใดน่ารัก เพราะเห็นว่าเป็นความปรุงแต่งทางตา ไม่ใช่เนื้อหาเนื้อแท้ที่มีอยู่จริงในโลก"
หรืออีกอย่างหนึ่ง เธอย่อมเข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเมตตาเจโตวิมุติว่า มีสุภวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุนั้นยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยวดยิ่งในธรรมวินัย ปัญญาของเธอจึงยังเป็นโลกีย์.
"ทีนี้มันมีอีกอย่างนึงที่พระพุทธเจ้าขมวดปม สรุปเอาไว้ หรืออีกอย่างหนึ่ง เธอย่อมเข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ พูดง่ายๆว่า พอเจริญเมตตาไป จิตมันกลายเป็นสิ่งงดงามอย่างที่สุดได้ มันกลายเป็นความสว่างมันกลายเป็นความน่ารักน่าเอา เมื่อกี้ที่พูดไปข้างต้นทั้งหมดมันเป็นฝ่ายรูปที่ถูกตัดสินว่าน่ารังเกียจ หรือว่าน่ารักน่าพิศวาส แต่คราวนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสเหมารวมด้วยว่า แม้แต่จิตที่ทรงตัวอยู่ในอุเบกขา ภาวะที่มันมีกำลัง ภาวะที่มันมีความสว่าง ท่านก็ให้เห็นว่า ต่อให้เป็นจิตมันก็กลายเป็นสิ่งที่น่าติดใจได้ ถ้าหากว่าไปถึงตรงนั้น ท่านบอกว่ายังไม่แทงตลอด ยังไม่ถึงนิพพาน วิมุตในที่นี้ก็คือพระนิพพาน ถ้าหากว่ายังไม่แทงตลอดถือว่าเป็นโลกียะ ยังไม่เป็นโลกุตระ
สรุปว่าเอาให้ง่ายที่สุดตรงนี้เนี่ย เราจะเจริญเมตตา เจริญกรุณากันมา เอาแบบย่นย่อที่สุดเลยก็คือว่า จิตมีกำลัง จิตมีความสามารถแผ่ออก แล้วก็มีความสามารถที่จะครอบงำทั้งสิ่งน่าเกลียดและสิ่งน่ารักที่ปรากฎทางตา สามารถที่จะมองเป็นของน่าเกลียดก็ได้ มองเป็นของน่ารักก็ได้ หรือว่าสามารถที่จะแยกจิตแยกสัญญา เห็นว่ามันเป็นต่างหากจากจิต แล้วไม่มีความยึดมั่นถือมั่นได้ มีสติวางเฉย อันนี้คือที่สุดทางหนึ่งในฝ่ายรูป แต่ถ้าหากว่ายังไม่แจ่มแจ้งในนิพพาน คือยังไม่แทงทะลุ แทงขาด ยังมีความรู้สึกว่า จิตที่มีความทรงตัว แล้วก็มีความสว่างมีกำลังนั้น เป็นของน่าพิศวาสเป็นของน่ายินดี ก็ถือว่ายังติดอยู่เป็นโลกียะ ยังไม่ถือว่าเป็นโลกุตระ
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เพื่อให้เข้าใจว่า สุดท้ายปลายทางที่เราแผ่เมตตา แผ่กรุณามาขึ้นต้นเราอาจจะรู้สึกถึงกำลังของจิตที่อยู่เหนือโลก แต่ถ้าหากว่าไอความรู้สึกอยู่เหนือโลกนั้นมันไปติดอยู่กับความน่าพิศวาสทางจิต ก็ถือว่ายังไม่พ้นไป เพราะฉะนั้นมันก็ต้องอาศัยฐานก็คือจิตที่มีความทรงกำลังและแผ่ออกนั้น เป็นที่ตั้งของสติในการที่จะพิจารณาเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาน หรือพูดง่ายๆที่สุดเลยว่ากายใจนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ประชุมกัน เป็นของหลอก แล้วก็ไม่น่าเอา พอพ้นไปได้ จากการยึดภาวะทางกายภาวะทางใจที่มาประชุมกันนี้ จิตถึงจะพลิกไปเห็นอะไรอีกอย่างนึง พ้นไปจากความยึดทั้งฝ่ายรูปฝ่ายนามไปซะได้
อันนี้ก็จะบอกให้เห็นว่าที่เราแผ่เมตตาและแผ่กรุณากันมา ถึงจุดที่เรารู้สึกว่า จิตทรงตัวตั้งมั่นได้เป็นปกติ อย่าเผลอไปเอาไอความน่าติดใจตรงนั้นเป็นธงสุดท้าย ให้มองว่ามันเป็นฐานมันเป็นที่ตั้งของการเจริญสติ เพื่อละอุปทานมีความรู้สึกว่าในกายนี้มีความเป็น หรือว่าในจิตนี้มีความน่าพิศวาสอยู่"
|
|