|
Post by นุ้ยOra on Feb 27, 2023 17:58:59 GMT 7
โพสนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เพื่อนๆสหธรรมิก ได้มาแชร์คำศัพท์ที่พี่ตุลย์และพี่ฮิมใช้บ่อยในไลฟ์ สำหรับเพื่อนๆอีกหลายๆท่านที่อาจจะยังไม่เข้าใจความหมาย ทั้งนี้คำแปลมาจากพวกเราช่วยกัน คำแปลมีทั้งที่มาจากแหล่งที่มาอ้างอิงจากพจนานุกรมและมาจากความเข้าใจของเพื่อนสหธรรมิก ขอรวบรวมตามที่เพื่อนๆแชร์มานะคะ หากท่านใดอยากจะเสนอแนะคำแปลเพิ่มเติม หรือมีคำถามสามารถเสนอแนะได้ค่ะ
ขอแปะลิงก์ไว้ก่อนนะคะ ทุกท่านสามารถเข้าไปดูคำศัพท์ที่ลิงก์นี้ได้ Google drive
|
|
|
Post by nutty Jeezooya on Mar 1, 2023 17:27:28 GMT 7
วันนี้ขอเสนอคำศัทพ์บาลีที่ได้ยินครูพูดในซูมให้ได้ยิน พร้อมความหมายพอให้จำง่ายๆ คะ อิทธิบาท 4 หมายถึง ฐานหรือหนทางสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา 1.ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ ความต้องการกระทำ ใฝ่ใส่รักทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ ปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆขึ้นไป 2.วิริยะ หมายถึง ความเพียร ความขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย 3.จิตตะ หมายถึง ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป 4.วิมังสา หมายถึง ความไตร่ตรอง หรือทดลอง หมั่นใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญหาเหตุผล ตรวจสอบวัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น
|
|
|
Post by nutty Jeezooya on Mar 1, 2023 17:28:42 GMT 7
โพชฌงค์ 7 คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มีเจ็ดอย่างคือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา 1.สติ (สติสัมโพชฌงค์) ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง 2.ธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม 3.วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) ความเพียร 4.ปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์) ความอิ่มใจ 5.ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความสงบกายใจ 6.สมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์ 7.อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง
|
|
|
Post by nutty Jeezooya on Mar 1, 2023 17:31:43 GMT 7
นิวรณบรรพ หรือ นิวรณ์ หมายถึง เครื่องกั้น ขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี ไม่เปิดโอกาสให้ทำความดี มีอยู่ 5 อย่าง คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา 1.กามฉันทะ หมายถึง ความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง ดุจคนหลับอยู่ 2.พยาบาท หมายถึง ความไม่พอใจ จากการไม่สมดังปรารถนาในโลกียะสมบัติทั้งปวง ดุจคนถูกทัณฆ์ทรมานอยู่ 3.ถีนมิทธ หมายถึง ความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม 4.อุทธัจจะกุกกุจจะ หมายถึง ความคิดฟุ้งซ่าน ความคิดซัดส่ายตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใดๆ 5.วิจิกิจฉา หมายถึง ความไม่แน่ใจ ลังเล สงสัย กังวล กล้าๆกลัวๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ
เพิ่มเติม วิตก แก้ถีนมิธะ วิจารณ์ แก้วิจิกิจฉา ปิติ แก้พยาบาท สุข แก้อุทธัจจะกุกุจจะ เอกัคคตา แก้กามฉันทะ
|
|
|
Post by nutty Jeezooya on Mar 1, 2023 17:40:55 GMT 7
1.วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ หมายถึง อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา เป็นธรรมารมณ์ที่เกิดแก่ผู้ได้วิปัสสนาอ่อนๆ (ตรุณวิปัสสนา) สภาพน่าชื่นชมแต่ที่แท้เป็นโทษเครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนา ทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว เป็นเหตุขัดขวางไม่ให้ก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณ มี ๑๐ อย่าง คือ
1.โอภาส หมายถึง แสงสว่าง ที่ปรากฏเป็นธรรมารมณ์ในใจ 2.ญาณ หมายถึง ความหยั่งรู้ 3.ปีติ หมายถึง ความอิ่มใจ 4.ปัสสัทธิ หมายถึง ความสงบเย็น 5.สุข หมายถึง ความสุขสบายใจ 6.อธิโมกธ์ หมายถึง ความน้อมใจเชื่อ ศรัทธาแก่กล้า ควางปลงใจ 7.ปัคคาหะ หมายถึงความเพียรที่พอดี 8.อุปัฏฐาน หมายถึง สติแก่กล้า สติชัด 9.อุเบกขา หมายถึง ความมีจิตเป็นกลาง 10.นิกันติ หมายถึง ความพอใจ ติดใจ
|
|
|
Post by nutty Jeezooya on Mar 1, 2023 17:43:03 GMT 7
พรหมวิหาร 4
เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข กรุณา ความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี อุเบกขา การรู้จักวางเฉย
คำอธิบายพรหมวิหาร 4
1.เมตตา:ความปราถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภค ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น
2.กรุณา:ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
-ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่และ ความตายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์
-ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์
3.มุทิตา:ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน เช่น เห็นเพื่อนแต่งตัวเรียบร้อยแล้วครูชมเชยก็เกิดความริษยาจึงแกล้งเอาเศษชอล์ก โคลน หรือหมึกไปป้ายตามเสื้อกางเกงของเพื่อนนักเรียนคนนั้นให้สกปรกเลอะเทอะ เราต้องหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตา เพราะจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง
4.อุเบกขา:การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
|
|
|
Post by nutty Jeezooya on Mar 1, 2023 17:44:21 GMT 7
อริยสัจ 4 มีความจริงอยู่ 4 ประการคือ การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ ความจริงเหล่านี้เรียกว่า "อริยสัจ4"
1. ทุกข์ คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็น ทุกข์ การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง 5 ล้วนเป็นทุกข์
2. สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ เพราะอวิชา ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นความจริงของชีวิต พวกเขาตกอยู่ในเปลวเพลิงแห่งตัณหา ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความเศร้าโศก ความวิตกกังวล ความกลัว และความผิดหวัง
3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ การเข้าใจความจริงของชีวิตนำไปสู่การดับความเศร้า โศกทั้งมวล อันยังให้เกิดความสงบและความเบิกบาน
4. มรรค คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรค 8 ซึ่งได้รับการหล่อ เลี้ยงด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญาซึ่งจะปลดปล่อย ให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าทั้งมวลอันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตานำทางพวกเราไปตามหนทางแห่งความรู้แจ้งนี้
|
|
|
Post by nutty Jeezooya on Mar 1, 2023 18:01:36 GMT 7
ไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ (อริยกรธรรม) แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ หมายถึงสามัญลักษณะ คือ กฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง
๑. อนิจจัง (ความไม่แน่นอน) หมายถึง คือ ความเป็นของไม่เที่ยง หมายถึง ความไม่เที่ยง ความไม่ถาวรคงที่แน่นอน ความไม่คงที่อยู่ได้ในสภาพเดิมตลอดไป ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมสลายแปรปรวนไป กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่งคงที่อยู่อย่างเดิมได้ตลอดไป ขึ้นอยู่กับว่าจะเปลี่ยนแปลงช้าหรือเปลี่ยนแปลงเร็วเท่านั้น แต่ที่แน่ๆ ก็คือสิ่งต่างๆ ทั้งหมดจะถูกกาลเวลาทำให้เปลี่ยนแปลงเปลี่ยนสภาพไปอย่างแน่นอน สิ่งใดมีการเกิดขึ้นในตอนต้น สิ่งนั้นแม้จะคงมีอยู่ในท่ามกลาง แต่ก็ยังต้องมีความเสื่อมสลายดับไปในที่สุด นี่นับเป็นสิ่งธรรมดาแท้ของโลก
หลักอนิจจตา (ความไม่เที่ยง) จะปรากฏขึ้นเมื่อสรรพสิ่งไม่ว่าจะมีรูปร่าง (รูปธรรม) หรือไม่มีรูปร่าง (อรูปธรรม) ก็ตาม มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับสูญสลายไป ถ้าบุคคลใส่ใจพิจารณาให้ดีในตนเอง และสรรพสิ่งรอบข้างก็จะเห็นได้ คนเรามักจะเข้าไปยึดติดสิ่งต่างๆ จนเกิดความเข้าใจผิดคิดว่า สิ่งที่ตนเห็นหรือเกี่ยวข้องมีตัวตนจริงๆ แล้วถือมั่นยึดมั่นพยายามรักษาป้องกันมิให้สิ่งที่ตนชอบ พอใจ รักใคร่ เปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ตนไม่ชอบ หรือไม่รักใคร่ก็จะพยายามให้สิ่งนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ภาวะของความไม่เที่ยงมีสภาพเป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว ขึ้นอยู่กับการสมมติบัญญัติ แต่ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบเจริญหรือเสื่อม ก็คือความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
พระพุทธศาสนาสอนหลักอนิจจตา มิใช่ให้คนยึดติดหรือหลีกหนีความไม่เที่ยง แต่สอนเพื่อให้บุคคลเห็นหรือเข้าใจกฎธรรมชาติของความไม่เที่ยงว่า ทุกสิ่งเป็นไปภายใต้กฎของการเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ถาวรอยู่อย่างเดิมได้ตลอดไป เมื่อมองเห็น และเข้าใจกฎธรรมชาตินี้แล้วก็จะเกิดความรู้เท่าทัน สามารถดึงเอาคุณค่าของความจริงข้อนี้มาปฏิบัติดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม โดยการไม่เข้าไปยึดมั่นว่าเป็น “ตัวนั้น สิ่งนั้น สิ่งนี้” อันจะทำให้เกิดความยึดมั่นต่อไปว่า “ของเรา” และโดยการไม่ประมาทในกาลเวลา ในชีวิตและวัย เป็นต้น การรู้และเข้าใจจนเกิดความรู้เท่าทันต่อกฎของความไม่เที่ยงอย่างนี้ จะช่วยให้บุคคลไม่เกิดความทุกข์เกินสมควรในยามเมื่อเกิดความเสื่อม ความสูญเสียหรือพลัดพรากขึ้นกับตน และไม่หลงจนเกิดความประมาทในความเจริญและความสุขสบาย
ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ เปลี่ยนแปลง ของหลักอนิจจตา ปรากฏขณะที่สรรพสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับสลายไปใน 3 จังหวะ คือ สิ่งที่เป็นรูปธรรมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สังเกตได้จาก 3 จังหวะนี้ คือ 1) อุปจยะ มีการเกิดขึ้น 2) สันตติ มีการสืบต่อ 3) ชรตา มีการตาย แตกดับ และสลายไป
ส่วนสิ่งที่เป็นนามธรรมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นสังเกตได้จาก 3 จังหวะ คือ 1) อุปปาทะ มีการเกิดขึ้นของความรู้สึกจำได้หมายรู้ คิดนึก และรับรู้ในทางจิต 2) ฐิติ มีการตั้งอยู่ชั่วขณะของความรู้สึกจำได้หมายรู้ คิดนึก และรับรู้ในทางจิต 3) ภังคะ มีการแตกดับสิ้นสุดไปของความรู้สึกจำได้หมายรู้ คิดนึก และรับรู้ในทางจิต ๒.ทุกขัง (ความไม่เที่ยงแท้ ทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้ตลอดกาล) ความเป็นทุกข์ หมายถึง ความผิดหวังที่เกิดจากสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความประสงค์ของตนเอง รวมถึงภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นของเหตุอันไม่พึงประสงค์ เกิดสภาพฝืนทน และขัดแย้งอยู่ในตัว กล่าวคือ สิ่งต่างๆ ที่มีองค์ล้วนมีประกอบจากปัจจัยต่างๆที่ไม่สามารถดำรงอยู่ตามสภาพเดิมได้ มีเปลี่ยนแปลง เสื่อมถอย และสลายไปตามกาลเวลา
หลักทุกขตา (ความเป็นทุกข์) จะปรากฏขึ้นเมื่อสรรพสิ่งไม่ว่าจะมีรูปร่าง (รูปธรรม) หรือไม่มีรูปร่าง (อรูปธรรม) ก็ตาม กำลังตั้งอยู่หรือดำเนินไป ถ้าบุคคลใส่ใจพิจารณาให้ดีในตนเอง และสรรพสิ่งรอบข้างก็จะได้เห็นคำว่า “ทุกข์” ที่หมายถึงในหลักไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณะนี้ มีความหมายกว้างทั่วไปทั้งแก่สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต มีการจัดแบ่งประเภทของทุกข์ไว้หลายแบบด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในเรื่องของทุกข์ มีข้อควรทำความเข้าใจอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ
ประการที่ 1 ทุกข์ในไตรลักษณ์ กับ ทุกข์ในอริยสัจ 4 กล่าวคือ ทุกข์ที่ปรากฏอยู่ในหมวดธรรมสำคัญ 3 หมวด คือ
1.1 เวทนา เรียกว่า “ทุกขเวทนา” ประกอบด้วย เวทนา 3 คือ – ทุกข์ – สุข – อุเบกขา และเวทนา 5 – ทุกข์ – สุข – โทมนัส – โสมนัส – อุเบกขา
1.2 ไตรลักษณ์ เรียกว่า “ทุกขลักษณะ” – อนิจจัง – ทุกขัง – อนัตตา
1.3 อริยสัจ 4 เรียกว่า “ทุกขอริยสัจ” – ทุกข์ – สมุทัย – นิโรธ – มรรค ประการที่ 2 ลักษณะของทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนเรามักเป็นทุกข์ในอริยสัจ 4 เพราะเป็นทุกที่เกิดจากสภาพจิตที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยปุถุชนไม่สามารถหลีเลี่ยงได้ ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวข้องในไตรลักษณ์ 3 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต หรือการงานอาชีพโดยตรง
ดังนั้น ทุกข์ในข้อนี้จึงหมายถึง ทุกข์ในไตรลักษณ์ที่หมายรวมทั้งสิ่งมีชีวิตคือ มนุษย์และสัตว์ และไม่มีชีวิต เช่น บ้านเรือน ภูเขา ก้อนหิน ฯลฯ ซึ่งต้องมีความทุกข์ มีการทรุดโทรม หรือแก่ชราเป็นธรรมดา ทุกข์ชนิดนี้สัมพันธ์กับข้องเกี่ยวกับหลักอนิจจตา เป็นต้นว่า ความคงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นทุกข์ก็เพราะสรรพสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเหตุแห่งปัจจัย (อนิจจัง)
๓. อนัตตา (สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนอย่างแท้จริง) คือ ความเป็นอนัตตา หมายถึง ความไม่ใช่ตัวตน หรือ ความไม่มีตัวตนแท้จริงของสรรพสิ่ง และไม่สามารถควบคุมให้คงอยู่ได้ตามความมุ่งหมายของตน กล่าวคือ ชีวิตหรือร่างกายนี้มิอาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวตนแท้จริงของบุคคล เพราะที่เรามองเห็นเป็นรูปร่างหรือเป็นชีวิตนี้ก็เพราะมีการรวมกันของขันธ์ 5 คือ
3.1. รูปหรือรูปขันธ์ 1 อันเป็นส่วนรูปหรือกาย มีส่วนประกอบคือ มหาภูตรูป 4 คือ – ดิน – น้ำ – ลม – ไฟ
3.2. อุปทายรูป 24 และนามหรือนามขันธ์ 4 ส่วน คือ – เวทนา – สัญญา – สังขาร – วิญญาณ
นามขันธ์ทั้ง 4 นี้ เป็นส่วนนามหรือจิต เมื่อส่วนประกอบด้านรูปขันธ์หรือนามขันธ์ทั้ง 5 ประกอบรวมกันเข้า จึงเป็นรูปร่างหรือชีวิตเกิดขึ้นก่อนในเบื้องต้น อยู่ได้เพียงชั่วขณะเท่านั้น และย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง ทรุดโทรม จนในที่สุดก็แตกดับสลายสูญสิ้น ซึ่งเป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทุกสรรพสิ่ง
ทั้งนี้ สรรพสิ่ง หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่บนโลก และในจักรวาล รวมทั้งตัวจักรวาลเองด้วยก็ตกอยู่ภายใต้ความเป็นอนัตตาเช่นกัน โดยสรุปก็คือ ไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่เป็นอนัตตา
ทั้งนี้ คำว่า สรรพสิ่ง ที่มีความหมายครอบคลุมสรรพสิ่งที่ว่านี้เป็น 2 ประเภท คือ 1. สิ่งที่เป็นสังขตธรรม คือ สิ่งที่มีเงื่อนไขปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดำรงงอยู่ เสื่อมลง และดับสลายไป มีลักษณะเฉพาะตนคือ 2. สิ่งที่เป็นอสังขตธรรม คือ สิ่งที่คงอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีเงื่อนไขปัจจัยอะไร ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดอื่นๆ มีลักษณะตรงกันข้ามกับสังขตธรรม คือ ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับสลาย และเมื่อดำรงอยู่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงปรากฏ ได้แก่ นิพพาน
เพิ่มเติม : สันตติ คือ การสืบต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสายของขันธ์ 5 โดยสืบต่อเนื่องจากจิตดวงหนึ่งที่ดับไป จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นต่อกันในทันที อิริยาบถ คือ รูปแบบกิริยาการกระทำต่าง ๆ เช่น การยืน การเดิน การนั่ง การนอน การแล การเหลียว เป็นต้น
กรายลาไปก่อนนะคะ ธรรมะสวัสดีคะ
|
|